Monday, February 12, 2007

องค์การสะพานปลา

ความเป็นมาของหน่วยงาน
ในอดีตการขนถ่ายและจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำเค็มของกรุงเทพฯ มีศูนย์รวมอยู่ที่ถนนทรงวาด อำเภอสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ ส่วนการจำหน่ายสัตว์น้ำจืดมีศูนย์รวมอยู่ที่หัวลำโพง ริมคลองผดุงกรุงเกษม สถานที่ทั้งสองแห่งดังกล่าวคับแคบและสกปรก ทำให้การดำเนินธุรกิจไปอย่างไม่สะดวก ในปี พ.ศ.2491 องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญ ประกอบด้วย Dr. K.F. VASS และ Dr. J. REUTER มาศึกษาภาวะการประมงของประเทศไทยตามคำร้องขอของรัฐบาล ซึ่งคณะผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวได้เสนอว่าระบบตลาดปลาที่มีอยู่เดิมยังขาดหลักการดำเนินงานทางวิชาการและขาดการสงเคราะห์ในด้านสังคมและเศรษฐกิจ สมควรที่รัฐบาลจะเข้าดำเนินการแก้ไขปรับปรุงในด้านต่างๆ 6 ประการ ดังนี้
 บริการเกี่ยวกับการขนส่งสัตว์น้ำไปสู่ตลาด (การขนส่ง)
 บริการเกี่ยวกับการเก็บสินค้าสัตว์น้ำที่สะพานปลา (ห้องเย็น)
 การจัดระบบเลหลังสินค้าสัตว์น้ำ (ตลาดกลางหรือสะพานปลา)
 จัดองค์การให้ชาวประมงกู้ยืมเงินทุนและออมสิน (สินเชื่อการเกษตร)
 บริการเกี่ยวกับการขายวัตถุดิบและอุปกรณ์การประมง (เครื่องมือและอุปกรณ์)


 บริการเกี่ยวกับการส่งเสริมการประมง แนะนำทางวิชาการและอื่นๆ ตลอดจนบริการเกี่ยวกับป่วยเจ็บ (วิชาการและสวัสดิการ)จากข้อเสนอดังกล่าวข้างต้น เพื่อดำเนินงานตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจการประมงด้านการตลาด กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้จัดทำโครงการเสนอรัฐบาล เมื่อรัฐบาลรับหลักการและเห็นชอบให้ดำเนินการแล้ว กรมประมงจึงได้เริ่มงานในการก่อสร้างสะพานปลาของรัฐขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลยานนาวา อำเภอยานนาวา กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2492 ต่อมาได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบกิจการแพปลา พ.ศ.2496 เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2496 อันเป็นกฎหมายในการจัดตั้งองค์การสะพานปลา องค์การสะพานปลาจึงได้ถือกำเนิดตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ
พระราชบัญญัติ จัดระเบียบกิจการแพปลา พ.ศ.๒๔๙๖ ************************* ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๙ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๖ เป็นปีที่ ๘ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่าโดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายจัดระเบียบกิจการแพปลา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดั่งต่อไปนี้

หมวด ๑องค์การสะพานปลามาตรา ๕ ให้จัดตั้งองค์การขึ้นองค์การหนึ่งเรียกว่า “องค์การสะพานปลา” มีวัตถุประสงค์ ดั่งต่อไปนี้(๑) จัดดำเนินการและนำมาซึ่งความเจริญของสะพานปลา ตลาดสินค้าสัตว์น้ำและอุตสาห กรรมการประมง(๒) จัดดำเนินการหรือควบคุม และอำนวยบริการซึ่งกิจการแพปลา การขนส่ง และกิจการ อื่นๆ อันเกี่ยวกิจการแพปลา
โครงการปรับปรุงสุขอนามัยสะพานปลาและท่าเทียบเรือประมง
โครงการตรวจคุณภาพสัตว์น้ำเบื้องต้น
โครงการร้านค้าสินค้าสัตว์น้ำปลอดสารพิษ
โครงการปรับปรุงสุขอนามัยสะพานปลาและท่าเทียบเรือประมง
ความเป็นมา ปัญหาที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของอุตสาหกรรมส่งออกสินค้าประมงคือเรื่อง มาตรฐานสุขอนามัยของสินค้าสัตว์น้ำ โดยประเทศผู้นำเข้าสินค้าสัตว์น้ำรายใหญ่ของโลกได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป แคนาดา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ร่วมกันออกมาตรฐานการตรวจสอบคุณภาพ ตั้งแต่ขั้นตอนการจับสัตว์น้ำ การขนย้าย การคัดเลือก และตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบก่อนนำเข้าทำการแปรรูป ร่วมกับมาตรฐานของท่าเทียบเรือประมง ท่าขึ้นปลา และตลาดกลางซื้อขายสัตว์น้ำ เนื่องจากสะพานปลาและท่าเทียบเรือประมงเป็นด่านแรกที่จะรองรับผลผลิตสัตว์น้ำจากเรือประมงและเกษตรกร เพื่อทำการขนถ่ายและจำหน่ายไปยังผู้บริโภคกลุ่มต่าง ๆ ประกอบกับสินค้าสัตว์น้ำเป็นสินค้าที่ปนเปื้อนได้ง่าย และต้องการการดูแลรักษาและขนถ่ายอย่างระมัดระวัง ดังนั้น สุขอนามัยของสะพานปลาและท่าเทียบเรือประมงจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อคุณภาพสัตว์น้ำ ซึ่งประเทศผู้ส่งออกสินค้าสัตว์น้ำต้องดำเนินการตามข้อกำหนดต่าง ๆ ของประเทศผู้ซื้อ มิฉะนั้นผู้ส่งออกจะไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าสินค้าจากประเทศผู้ซื้อ จะทำให้สูญเสียรายได้จากการส่งออก และทำให้ราคาสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ตกต่ำลง จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงสะพานปลาและท่าเทียบเรือประมงที่มีอยู่ปัจจุบันให้ได้มาตรฐานตามที่สหภาพยุโรปกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการ
1. เพื่อดำเนินการตามเงื่อนไขของสหภาพยุโรป (EU) เป็นการรักษาตลาดสินค้า สัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมงของประเทศไทย2. สนับสนุนภาคการผลิตและบริการที่จะก่อให้เกิดรายได้เงินตราต่างประเทศ3. สร้างรายได้ สร้างโอกาสที่จะก่อให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศเพื่อช่วยเหลือ ผู้ว่างงาน
พื้นที่ดำเนินการ ปรับปรุงสะพานปลาและท่าเทียบเรือประมงทุกแห่งขององค์การสะพานปลาที่มีอยู่เดิม ซึ่งเปิดบริการมาหลายปี และมีเรือประมงใช้บริการสูงมากในปัจจุบัน ขณะที่มีขีดจำกัดและปัญหาด้านมาตรฐานการบริการและสุขอนามัย

ความพร้อมของการดำเนินโครงการ พื้นที่โครงการเป็นพื้นที่ที่มีการให้บริการแก่ชาวประมงอยู่แล้ว และในระหว่างดำเนินโครงการจะไม่มีการปิดสะพานปลาและท่าเทียบเรือ โดยในส่วนที่มีการปรับปรุง ได้มีการจัดเตรียมพื้นที่สำรองเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการประกอบธุรกิจ
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. ปรับปรุงมาตรฐานสุขลักษณะการขนถ่ายสัตว์น้ำที่สะพานปลาหรือท่าเทียบเรือ และบริเวณขนถ่ายสัตว์น้ำ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติมาตรฐานการผลิตสินค้า ตั้งแต่การจับและการเพาะเลี้ยงจนถึงมือผู้บริโภค (From farm to table) ในตลาดส่งออกสินค้า
2. สร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าสัตว์น้ำอันเนื่องจากการเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาคุณภาพ และลดการสูญเสียจากกระบวนการขนถ่ายสินค้าหลังการจับ
3. ป้องกันผลกระทบต่อการจ้างงาน รายได้ ของผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมประมง ทั้งชาวประมง ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกและอื่น ๆ
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ในระหว่างการดำเนินงานปรับปรุงสิ่งก่อสร้างนั้น กิจกรรมต่าง ๆ จะมีผลต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมบ้าง อันเป็นสภาพทั่วไปของการก่อสร้าง อย่างไรก็ตามบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างจะต้องดำเนินการต่าง ๆ ตามข้อบังคับของราชการในอันที่จะควบคุมและลดผลกระทบต่าง ๆ ภายหลังการดำเนิน โครงการแล้วเสร็จ การเพิ่มพื้นที่ในการให้บริการ จะทำให้การขนถ่ายและจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำทำได้ รวดเร็วขึ้น เรือประมงและรถบรรทุกไม่ต้องจอดรอ ลดเวลาในการทำงานของผู้ประกอบธุรกิจ ลูกจ้าง แรงงาน ตลอดจนผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมทั้งความคับคั่งแออัดของบริเวณโดยรอบ จึงเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชิวิตของผู้เกี่ยวข้องและประชาชนโดยรอบให้ดีขึ้น นอกจากนี้การบรรจุระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบกำจัดขยะและสิ่งปฏิกูลที่ใช้ในโครงการเพื่อปรับปรุงและลดผลกระทบของท่าเทียบเรือและสะพานปลาต่อสภาพแวดล้อมโดยรอบพื้นที่โครงการ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมปัจจุบันในบริเวณโดยรอบ เมื่อการปรับปรุงเสร็จสิ้นลง ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยรอบดีขึ้น
ความคืบหน้าของโครงการ
1. สะพานปลาสมุทรปราการอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างตามโครงการปรับปรุงสุขอามัยสะพานปลาสมุทรปราการ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2545 ในวงเงิน 185.48 ล้านบาท โดยใช้งบค่าใช้จ่ายสำรองเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (งบกลาง สกศ./45) ซึ่ง กรมประมงได้ดำเนินการประกวดราคาจ้างเหมาในวันที่ 3 มีนาคม 2546 กิจการ ร่วมค้าพีแอนด์บี เสนอราคาต่ำสุดวงเงิน 149.80 ล้านบาท
2. ท่าเทียบเรือประมงนครศรีธรรมราช และตลาดกลางกุ้งกุลาดำอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างตามโครงการปรับปรุงสุขอนามัยท่าเทียบเรือประมงนครศรีธรรมราชและตลาดกลางกุ้งกุลาดำ โดยว่าจ้างบริษัท พัฒน์กล จำกัด (มหาชน)ใช้งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น ปี 2545 ในวงเงิน 63.13 ล้านบาท
3. ท่าเทียบเรือประมงปัตตานีตามที่นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปตรวจราชการที่จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2545 และได้ให้ความเห็นชอบตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีเสนอโครงการปรับปรุงสุขอนามัยท่าเทียบเรือประมงปัตตานี เพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีมาตรฐาน และสอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาอาหารฮาลาลให้เป็นสินค้าส่งออก จึงมีคำสั่งให้เร่งรัดดำเนินการ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง โดยกองพลพัฒนาที่ 4 กองพันทหารช่าง ที่ 402 กองทัพบก ในวงเงิน 69.98 ล้านบาท จากงบค่าใช้จ่ายสำรองเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (งบกลาง สกศ./2546 และ 2547)
4. ท่าเทียบเรือประมงนราธิวาสอยู่ในแผนการดำเนินโครงการปรับปรุงสุขอนามัยสะพานปลาและท่าเทียบเรือประมงขององค์การสะพานปลา ปี 2547 ในวงเงินงบประมาณ 150 ล้านบาท และได้รับงบประมาณภายใต้กรอบแผนงบประมาณในเชิงบูรณาการ ปี 2547 ด้านการส่งเสริมและพัฒนาอาหารฮาลาลให้เป็นสินค้าส่งออก เป็นเงิน 30.148 ล้านบาท
5. ท่าเทียบเรือประมงภูเก็ตอยู่ในแผนการดำเนินโครงการปรับปรุงสุขอนามัยสะพานปลาและท่าเทียบเรือของ องค์การสะพานปลา งบประมาณ 278 ล้านบาท และอยู่ในระหว่างการทำ EIA
6. ท่าเทียบเรือประมงสตูลอยู่ในแผนการดำเนินโครงการปรับปรุงสุขอนามัยสะพานปลาและท่าเทียบเรือของ องค์การสะพานปลา งบประมาณ 150 ล้านบาท และอยู่ในระหว่างจัดทำแบบก่อสร้าง เพื่อเสนอของบประมาณเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน
7. ท่าเทียบเรือประมงหัวหิน, ท่าเทียบเรือประมงอ่างศิลา, ท่าเทียบเรือประมงสุราษฎร์ธานีอยู่ในแผนการดำเนินโครงการปรับปรุงสุขอนามัยสะพานปลาและท่าเทียบเรือของ องค์การสะพานปลา ปี 2547 ในโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือประมงเพื่อการท่องเที่ยว โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขอการสนับสนุนจากกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เนื่องจากสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาสินค้าและบริการ งบประมาณรวม 750 ล้านบาท
8. สะพานปลากรุงเทพ อยู่ในแผนการดำเนินโครงการปรับปรุงสุขอนามัยสะพานปลาและท่าเทียบเรือของ องค์การสะพานปลา ปี 2548 ประมาณการงบประมาณ 223 ล้านบาท
9. สะพานปลาสมุทรสาครอยู่ในแผนการดำเนินโครงการปรับปรุงสุขอนามัยสะพานปลาและท่าเทียบเรือของ องค์การสะพานปลา ปี 2548 ประมาณการงบประมาณ 140 ล้านบาท
10. ท่าเทียบเรือประมงสงขลา 2 (ท่าสะอ้าน)อยู่ในแผนการดำเนินโครงการปรับปรุงสุขอนามัยสะพานปลาและท่าเทียบเรือของ องค์การสะพานปลา ปี 2548 ประมาณการงบประมาณ 95 ล้านบาท
11. ท่าเทียบเรือประมงชุมพรอยู่ในแผนการดำเนินโครงการปรับปรุงสุขอนามัยสะพานปลาและท่าเทียบเรือของ องค์การสะพานปลา ปี 2549 ประมาณการงบประมาณ 150 ล้านบาท
12. ท่าเทียบเรือประมงหลังสวนอยู่ในแผนการดำเนินโครงการปรับปรุงสุขอนามัยสะพานปลาและท่าเทียบเรือของ องค์การสะพานปลา ปี 2549 ประมาณการงบประมาณ 115 ล้านบาท
13. ท่าเทียบเรือประมงระนองอยู่ในแผนการดำเนินโครงการปรับปรุงสุขอนามัยสะพานปลาและท่าเทียบเรือของ องค์การสะพานปลา ปี 2549 ประมาณการงบประมาณ 190 ล้านบาท
โครงการตรวจคุณภาพสัตว์น้ำเบื้องต้นณ สะพานปลาและท่าเทียบเรือประมงขององค์การสะพานปลา
ภารกิจเร่งด่วนและสำคัญยิ่งของรัฐบาลคือ การเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยจะต้องหยุดการหดตัวของเศรษฐกิจ และเร่งแก้ไขปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ให้กับระบบเศรษฐกิจ และสังคมไปสู่ความมี เสถียรภาพ และความมั่นคงอันยั่งยืนของประเทศชาติ ในการดำเนินการดังกล่าวรัฐบาลเน้นนโยบายการสร้าง รายได้ โดยเฉพาะการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรในตลาดโลก ซึ่งการประมงเป็นส่วนหนึ่งของภาคการผลิตที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจ สินค้าสัตว์น้ำแปรรูปส่งออกสามารถทำรายได้ให้ประเทศปีละกว่าแสนล้านบาท นอกจากนี้กิจการประมงอื่นๆ ล้วนเป็นแหล่งสร้างงานและรายได้ให้แก่ประเทศเช่นกัน ดังนั้นการพัฒนาการประมงของประเทศจึงเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินนโยบายดังกล่าว อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมส่งออกสินค้าประมงจะทำรายได้กว่า 170,000 ล้านบาท ในปี 2543 (คิดเป็นร้อยละ 64.79 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด) อุตสาหกรรมส่งออกสินค้าประมงกำลังอยู่ในสภาวะการแข่งขันที่รุนแรง เนื่องมาจากการกีดกันทางการค้า ทั้งมาตรการทางด้านภาษี กฎระเบียบการนำเข้า และมาตรฐานสุขอนามัยที่เข้มงวดมากขึ้น ดังนั้นประเทศไทยจึงจำเป็นต้องปรับปรุงมาตรฐานการผลิตสินค้า ตั้งแต่การจับและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำ การตรวจสอบคุณภาพของสินค้า สัตว์น้ำก่อนการแปรรูป สุขอนามัยของขั้นตอนการแปรรูป/การผลิตทุกขั้นตอน การเก็บรักษาสินค้าจนถึงมือผู้บริโภค เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ มิฉะนั้นประเทศไทยจะสูญเสียรายได้จำนวนมหาศาลจากต่างประเทศ และจะมีผลกระทบต่อการจ้างงาน รายได้ และคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ชาวประมง ผู้ประกอบการ และ เกี่ยวข้องกับกิจการประมงเป็นจำนวนมาก โดยประมาณว่าผู้ประกอบอาชีพในภาคประมงทั้งหมดของประเทศ มีกว่า 800,000 คน สะพานปลาและท่าเทียบเรือประมงขององค์การสะพานปลา จัดเป็นสถานที่ขนถ่ายสัตว์น้ำเบื้องต้นจากเรือประมง ซึ่งมีที่ตั้งกระจายอยู่ตามจังหวัดชายฝั่งทะเลทั้งในภาคใต้และภาคตะวันออก การจัดตั้ง จุดตรวจคุณภาพสัตว์น้ำเบื้องต้น จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค รวมทั้งตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นให้มีการยกระดับคุณภาพสินค้าอาหาร (Food Safety)

วัตถุประสงค์ของโครงการ
1. เพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพสินค้าสัตว์น้ำ ซึ่งมีผลต่อเนื่องในการยกระดับราคา ทำให้ชาวประมงสามารถจำหน่ายสัตว์น้ำได้ในราคาที่สูงขึ้น
2. เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำ โดยการตรวจสอบคุณภาพสินค้าที่ท่าเทียบเรือประมง อันเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญระหว่างผู้ผลิต ผู้ประกอบการแปรรูป และผู้ส่งออก
3. เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคสินค้าสัตว์น้ำภายในประเทศ ในด้านความปลอดภัยของอาหารสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นอาหารหลักประเภทหนึ่งในสังคมไทย
4. เป็นการเพิ่มรายได้จากการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำ
พื้นที่ดำเนินการ สะพานปลาและท่าเทียบเรือประมงขององค์การสะพานปลา 13 แห่ง ประกอบด้วย สะพานปลา 3 แห่ง ได้แก่ 1. สะพานปลากรุงเทพ 2. สะพานปลาสมุทรปราการ 3. สะพานปลาสมุทรสาคร ท่าเทียบเรือประมง 10 แห่ง ได้แก่ 1. ท่าเทียบเรือประมงหัวหิน 2. ท่าเทียบเรือประมงชุมพรและหลังสวน 3. ท่าเทียบเรือประมงสุราษฎร์ธานี 4. ท่าเทียบเรือประมงนครศรีธรรมราช 5. ท่าเทียบเรือประมงสงขลา(ท่าสะอ้าน) 6. ท่าเทียบเรือประมงปัตตานี 7. ท่าเทียบเรือประมงนราธิวาส 8. ท่าเทียบเรือประมงสตูล 9. ท่าเทียบเรือประมงระนอง 10.ท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต
การดำเนินการ โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างองค์การสะพานปลาและกรมประมง โดยดำเนินการตรวจสอบคุณภาพสินค้าสัตว์น้ำที่ขนถ่ายผ่านสะพานปลาและท่าเทียบเรือประมงขององค์การสะพานปลา 13 แห่ง โดยในระยะแรกจะทำการตรวจสอบการปนเปื้อนฟอร์มาลิน โดยใช้ชุดตรวจสอบสำเร็จรูป ซึ่งองค์การสะพานปลาได้จัดฝึกอบรมทักษะการใช้ชุดตรวจสอบฯแก่เจ้าหน้าที่ขององค์การสะพานปลาที่ปฏิบัติงาน ณ สะพานปลาและ ท่าเทียบเรือประมงต่าง ๆ ที่รับผิดชอบเรื่องการตรวจสอบ เพื่อให้สามารถใช้ชุดตรวจสอบฯได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแยกประเภทกลุ่มที่จะดำเนินการตรวจสอบคุณภาพ สัตว์น้ำ เป็น 4 กลุ่ม ดังนี 1. เรือประมง 2. รถส่งสัตว์น้ำ 3. แพปลา 4. ผู้ซื้อ เมื่อทำการตรวจสอบแล้ว จะเก็บผลการตรวจสอบไว้ที่หน่วยงานที่ทำการตรวจสอบ เพื่อเป็น ข้อมูลอ้างอิงในการดำเนินงานต่อไป ในกรณีที่ตรวจพบองค์การสะพานปลาจะประสานงานกับกรมประมงเพื่อกำหนดมาตรการแก้ไข และควบคุมต่อไป โดยโครงการนี้จะเริ่มดำเนินการในต้นเดือนกันยายน 2546
ผลที่คาดว่าจะได้รับ สินค้าสัตว์น้ำที่ขนถ่ายผ่านสะพานปลาและท่าเทียบเรือประมงขององค์การสะพานปลาประมาณ 1.1 ล้านตัน ต่อปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 33,000 ล้านบาท มีความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค เป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
โครงการร้านค้าสินค้าสัตว์น้ำปลอดสารพิษ(Marine Green Mart)
ความเป็นมา ปัจจุบันคนไทยมีความตื่นตัวในเรื่องการเลือกบริโภคอาหารชนิดต่าง ๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่มาจากพืชผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ หรือแม้แต่สัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ กำลังเป็นที่สนใจว่ามีการปนเปื้อนสารพิษหรือไม่ เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสรับประทานอาหารที่ปลอดภัย และมั่นใจได้ว่าเมื่อบริโภคอาหารเหล่านั้นเข้าไปแล้วจะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ องค์การสะพานปลาจึงดำเนินการจัดตั้งร้านค้าจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำปลอดสารพิษที่สะพานปลาและท่าเทียบเรือประมงต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบอาชีพการประมงมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ตลอดจนเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยว
วัตถุประสงค์
1. เพื่อส่งเสริมการบริโภคสินค้าสัตว์น้ำให้มีความสะอาด ถูกสุขลักษณะอนามัย ปลอดสารพิษและสารปนเปื้อนเชื้อโรคต่าง ๆ แก่ประชาชน
2. เป็นช่องทางการตลาดของสินค้าสัตว์น้ำสดและแปรรูปของชุมชนประมงท้องถิ่นพื้นบ้าน
3. ถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีในการพัฒนาการประมงตามศักยภาพของชุมชน
4. ส่งเสริมการผลิตเพื่อบริโภคของชุมชน สร้างรายได้ในชุมชนและครัวเรือน
เป้าหมาย
1. จัดตั้งร้านค้าสัตว์น้ำปลอดสารพิษที่สะพานปลาและท่าเทียบเรือประมงที่มีความพร้อมและสถานที่เหมาะสม
2. จัดจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำปลอดสารพิษที่ได้มาตรฐานจากชาวประมงพื้นบ้าน และแหล่งผลิตที่มีคุณภาพ
3. ส่งเสริมและสนับสนุนเพิ่มพูนรายได้ให้ชาวประมงท้องถิ่น

รายละเอียดโครงการ “ MARINE GREEN MART ” จะเปิดดำเนินการเป็นแห่งแรกที่ท่าเทียบเรือประมงหัวหิน ตั้งอยู่ปลายถนนชมสินธุ์ เขตเทศบาลตำบลหัวหิน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยว และมีความพร้อมในด้านสถานที่ คาดว่าจะเปิดดำเนินการต้นเดือนตุลาคม 2546
ประเภทของสินค้าสัตว์น้ำปลอดสารพิษที่จะวางจำหน่าย - สินค้าสัตว์น้ำสดและแปรรูปเบื้องต้น - สินค้าแปรรูปตากแห้งเช่นปลาหมึกกุ้งปลา หอย - สินค้าบรรจุภัณฑ์เช่นปลาเค็มกางมุ้ง กะปิ น้ำปลา - สินค้าแปรรูปอื่นๆเช่นข้าวเกรียบ ปลายอ กุนเชียง ลูกชิ้น ผู้ผลิตที่สนใจจะนำสินค้ามาจำหน่าย สามารถติดต่อฝ่ายการค้า องค์การสะพานปลา หมายเลขโทรศัพท์ 0-2211-3614
การตรวจสอบคุณภาพสินค้าสัตว์น้ำปลอดสารพิษที่จะวางจำหน่าย ขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่รับรองคุณภาพ เช่น อย., กรมประมง หรือกรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ พื่อตรวจสอบคุณภาพสินค้าก่อนมาจำหน่าย

No comments: